วันเสาร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2551

ปัญหาเกษตรกรไทยกับการใช้ปุ๋ยเคมี

พอถึงฤดูกาลเพาะปลูก มักมีข่าวปรากฏอยู่เสมอว่า ปุ๋ยเคมีมีไม่เพียงพอกับการเพาะปลูกของเกษตรกรยิ่งไปกว่านั้นยังมีข่าวให้เกษตรกรสับสนมากยิ่งขึ้น เช่นการเสนอข่าวในทางส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ มากกว่าการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยเคมีโดยเน้นเสมอว่าการส่งเสริมให้ใช้ปุ๋ยเคมีมากๆ นั้นเป็นการทำให้เกษตรกรยากจนลง ดังนั้นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยเคมีจึงตกเป็นเป้าหมายการโจมตีไปด้วย นอกจากนี้ยังมีพวกอนุรักษ์นิยมบางกลุ่มที่ขาดข้อมูลได้ออกบทความเสนอข่าวต่อสื่อมวลแบบเข้าใจแบบผิด ๆ ต่อการใช้ปุ๋ยเคมีว่าเป็นสิ่งที่มีพิษภัย เช่นเดียวกับการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช เรื่องดังกล่าวนี้ทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อ ๆ กันไปและมากยิ่ง ๆ ขึ้น จนอาจเป็นผลเสียต่อการเกษตรของประเทศไทยในอนาคตเป็นอย่างมาก เนื่องจากอาจเป็นผลทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลงไม่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศจนอาจต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ หรือผลิตผลการเกษตรของไทยไม่เป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศที่มีผู้แข่งขัน เนื่องจากด้อยคุณภาพและการให้ข่าวในทางที่ดีกว่าประเทศคู่แข่ง แม้ว่าจะมีการดำเนินการเกษตรเช่นเดียวกับประเทศไทยก็ตาม ประเทศไทยเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาประเทศเดียวในทวีปเอเชียที่สามารถพึ่งผลิตผลทางการเกษตรหลายชนิด ผลผลิตที่ได้มีพอเพียงกับการบริโภคภายในประเทศและส่งออกเป็นสินค้าทำรายได้เข้าประเทศ ซึ่งเป็นความจริงอย่างแน่นอนว่าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมายนั้น นอกจากการขยายเนื้อที่การเพาะปลูกในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การขยายพื้นที่ การชลประทาน ตลอดจนการปรับปรุงพันธุ์พืชและวิธีการเพาะปลูกแล้ว ปุ๋ยย่อมเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญประการหนึ่งที่มีบทบาทเป็นอย่างมากและถือเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มผลผลิตพืช
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจในเรื่อง “ปุ๋ย” หรือ “ปุ๋ยเคมี” เสียก่อน ปุ๋ยตามความหมายของเกษตรกรหรือนักวิชาการเกษตรก็คือสารอินทรีย์หรือสารอนินทรีย์ใด ๆ จะเป็นธรรมชาติหรือสังเคราะห์ก็ตามเมื่อใส่ลงไปในดินโดยวัตถุประสงค์ในการเพิ่มเติมธาตุอาหารพืชให้แก่ดิน หรือตามความหมายตาม พ.ร.บ.ปุ๋ย พ.ศ. 2518 ได้ให้ความหมายว่า “ปุ๋ย” หมายความว่า สารอินทรีย์ หรืออนินทรีย์ไม่ว่าจะเกิดขึ้นโดยธรรมชาติหรือทำขึ้นก็ตาม สำหรับใช้เป็นธาตุอาหารแก่พืชได้ไม่ว่าโดยวิธีใด หรือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีในดินเพื่อบำรุงความเติบโตแก่พืชใน พ.ร.บ. ปุ๋ย พ.ศ. 2518 ยังให้คำนิยามของ “ปุ๋ยเคมี” ไว้ว่าเป็นปุ๋ยที่ได้จากสารอนินทรีย์หรืออินทรีย์สังเคราะห์รวมทั้งปุ๋ยเชิงเดียว ปุ๋ยเชิงผสม ปุ๋ยเชิงประกอบและหมายถึงปุ๋ยอินทรีย์ที่มีปุ๋ยเคมีผสมอยู่ด้วย แต่ไม่รวมถึงปูนขาว ดินมาร์ล ปูนพลาสเตอร์ หรือยิบซั่ม เหตุผลที่มีคำนิยามของปุ๋ยก็เพื่อเป็นความรู้และเป็นบรรทัดฐานเบื้องต้น อีกทั้งเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความสับสนในปัญหาของปุ๋ยในประเทศ เพราะคำว่า “ปุ๋ยเคมี” นั้นมีบุคคลบางกลุ่มเรียกว่า “ปุ๋ยวิทยาศาสตร์” ซึ่งพอมีคำว่าวิทยาศาสตร์อยู่ด้วยอาจจะทำพวกอนุรักษ์นิยมเกรงไปว่าเป็นการนำวิทยาศาสตร์สมัยใหม่มาใช้จนทำให้ลืมของเดิม อย่างไรก็ตามการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยเคมีของทางราชการ โดยเฉพาะพวกนัก
วิชาการด้านดินและปุ๋ยของกรมวิชาการเกษตรนั้น ได้คำนึงถึงการใช้ปุ๋ยไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยเคมีว่าเป็นหัวใจสำคัญของนักปรับปรุงบำรุงดิน และการใช้ปุ๋ยจะต้องคำนึงถึงการได้กำไรสูงสุดจากการใช้ปุ๋ยแทนที่จะคำนึงถึงผลผลิตสูงสุด
การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยชีวภาพหรือแหนแดง ฯลฯ นั้น นับว่าเป็นประโยชน์มาก เพราะนอกจากจะให้อาหารแก่พืชแล้วยังช่วยปรับปรุงคุณสมบัติทางกายภาพของดินให้เหมาะสมแก่การเจริญเติบโตของพืชยิ่งขึ้น แต่ปุ๋ยอินทรีย์มีเปอร์เซ็นต์ของธาตุอาหารหลัก เช่น ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโปตัสเซียมต่ำ จึงจำเป็นต้องใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในปริมาณสูงมากต่อพื้นที่ เพื่อให้ปริมาณธาตุอาหารหลักเพียงพอแก่ความต้องการของพืช อย่างไรก็ดีในทางปฏิบัติเกษตรกรได้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชนิดต่าง ๆ อยู่แล้วโดยใช้ร่วมกับปุ๋ยเคมี โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะใช้กับพืชที่ให้ผลตอบแทนสูง เช่น พืชผักที่ปลูกอยู่รอบ ๆ ชานกรุงเทพฯ หรือไม้ดอกไม้ประดับที่ปลูกในกระถางหรือปลูกเพื่อเป็นอาหารตาของผู้มีอันจะกิน แต่เนื่องจากปุ๋ยอินทรีย์ที่ใช้ต้องใช้ในอัตราหรือปริมาณสูง เมื่อคำนึงถึงพื้นที่การเกษตรของประเทศไทยและอัตราการเพิ่มของประชากรในการหาอาหารมาบริโภค รวมทั้งปริมาณผลผลิตที่เหลือส่งออกเพื่อนำรายได้มาพัฒนาประเทศแล้วจึงจำเป็น การยากที่จะหาปริมาณปุ๋ยอินทรีย์ให้เพียงพอแก่ความต้องการใช้ทั่วประเทศได้
ดังนั้นปุ๋ยเคมีจึงมีบทบาทที่สำคัญต่อการเกษตรและความอยู่รอดของชาติ เกษตรกรจึงมีคุณภาพ
ความจำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมีเข้ามาเสริมในการเพิ่มผลผลิต ปุ๋ยเคมีนอกจากสามารถทำให้มีธาตุอาหารตามความต้องการของพืชและให้ผลตอบสนองในการเพิ่มผลผลิตทันตาเห็นแล้ว ยังเป็นปุ๋ยที่หาได้ในปริมาณสูง สะดวกในการใช้และปราศจากกลิ่นอันไม่พึงประสงค์
เนื่องจากประเทศไทยได้ทำการเพาะปลูกพืชติดต่อกันมานานประกอบกับการบำรุงรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดินโดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยเคมียังไม่มากพอเมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณธาตุอาหารที่พืชนำออกไปจากดิน จึงทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ถึงแม้ในปัจจุบันเกษตรกรไทยจะนิยมใช้ปุ๋ยเพิ่มขึ้นทุกปีก็ตาม โดยเฉลี่ยแล้วประเทศไทยมีการใช้ปุ๋ยน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่นในสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น หรือแม้ประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน ปัญหาที่เกษตรกรไทยยังมีการใช้ปุ๋ยเคมีในการเพิ่มผลผลิตน้อยกว่าประเทศเกษตรกรรมอื่นๆ อาจจะมาจากสาเหตุดังต่อไปนี้
1. ปัญหาราคาปุ๋ยเคมีแพงเกินไปและราคาผลผลิตทางการเกษตรต่ำ จึงทำให้เกษตรกรได้รับผลตอบแทนจากการใช้ปุ๋ยเคมีไม่คุ้มค่ากับการลงทุน การนำสั่งปุ๋ยเคมีเข้ามาจากต่างประเทศจึงทำให้ระบบราคาการจำหน่ายปุ๋ยไม่สม่ำเสมอ ในช่วงที่ยังไม่ถึงฤดูเพาะปลูกปุ๋ยค่อนข้างจะมีราคาถูกแต่เมื่อถึงฤดูกาลปลูกพืช ปุ๋ยเคมีมักจะมีราคาแพงตามกลไกของตลาด รัฐน่าจะมีบทบาทในการเข้าไปแทรกแซงตลาด จัดระบบการประกันราคาขั้นต่ำขยายผลผลิตทางการเกษตรและควบคุมราคาปุ๋ยเคมีให้อยู่ในราคายุติธรรม ถ้าเป็นไปได้ควรจะมีการจัดตั้งโรงงานผลิตปุ๋ยเคมีขึ้นภายในประเทศโดยเร็ว
2. ปัญหาการถือครองที่ดินและระบบการเกษตรของประเทศไทย เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง พื้นดินที่เหมาะสมกับการเกษตรหรือพื้นที่ในเขตชลประทานได้ถูกจัดสรรเป็นที่อยู่อาศัยหรือกิจกรรมอื่นที่ไม่ใช่การเกษตร เมื่อเกษตรกรไม่มีที่ดินทำกินก็ได้บุกรุกที่ทำมาหากินใหม่ในเขตป่าสงวนจนเป็นปัญหาต่อ ๆ ไป แต่ถึงแม้เกษตรกรบางส่วนจะมีที่ดินเป็นของตนเอง ที่เหล่านั้นมักมีความเสี่ยงสูงในการใช้ปุ๋ยสำหรับการเพิ่มผลผลิต จึงทำให้ต้นทุนการผลิตด้านการใช้ปุ๋ยสูงไปด้วย
3. ปัญหาการขาดการจัดระบบการให้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ การให้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพจะเป็นการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างมีประสิทธิภาพ และลดการเสี่ยงด้านการใช้ปุ๋ยเคมีในการเพิ่มผลผลิตพืช
4. ปัญหาเรื่องคุณภาพและปริมาณปุ๋ยเคมีที่จำหน่ายในท้องตลาด ปัญหาการเอารัดเอาเปรียบของผู้ประกอบการค้าปุ๋ยบางคน และบางกลุ่มในเรื่องปุ๋ยปลอม ปุ๋ยด้อยมาตรฐาน ปุ๋ยเสื่อมคุณภาพ ปุ๋ยมีน้ำหนักไม่ตรงตามที่ระบุไว้ในฉลาก ตลอดจนการโฆษณาโอ้อวดคุณภาพของปุ๋ยจน
เกินความเป็นจริง เป็นสาเหตุของการเพิ่มราคาของปุ๋ยและต้นทุนการใช้ปุ๋ยและเป็นการปลูกฝังความรู้สึกของเกษตรกรในความไม่มั่นใจต่อการใช้ปุ๋ยเคมี รัฐบาลควรจะได้ใช้กลไกของรัฐแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจังและถือเป็นนโยบายหลักในการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยเคมี โดยจะต้องปรับปรุงกลไกของรัฐบาลเพื่อให้ความเป็นธรรมทั้งผู้ประกอบการค้า และเกษตรผู้ใช้ปุ๋ย
5. ขาดการส่งเสริมความรู้พื้นฐานของการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างมีประสิทธิภาพถูกต้องตาม
คุณลักษณะของดิน และความต้องการของพืชที่ปลูกเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดนั้นมีปัจจัยหลายอย่างที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น สภาวะแวดล้อมในดิน สภาพอากาศ อันได้แก่ความชื้นอุณหภูมิ แสงแดด ปริมาณฝน ฯลฯ ชนิดของปุ๋ยเคมีซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับปริมาณธาตุอาหารในดินและมีผลต่อการเจริญเติบโตของพืช วิธีการใส่ปุ๋ยซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของดินและพืชที่ปลูก ปริมาณปุ๋ยเคมีที่ใช้ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เกษตรและผู้ประกอบการค้าปุ๋ยควรจะได้รับข้อมูลอย่างถูก ต้องต่อการใช้ปุ๋ยเคมี ความนึกคิดของกลุ่มบุคคลที่มักจะให้ข่าวในทางลบของปุ๋ยเคมี เช่นการใช้ปุ๋ยติดต่อกันนาน ๆ แล้วทำให้ดินเสื่อมดินแข็ง ดินเป็นกรดมากขึ้น จนทำให้คุณภาพและผลผลิตของพืชที่ปลูกลดลง แต่ถ้ามองโดยภาพรวมจะเห็นได้ว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่นประเทศในทวีปยุโรป สหรัฐอเมริกา หรือ ประเทศในเอเชีย คือ ญี่ปุ่น เป็นต้น ประเทศเหล่านี้มีการใช้ปุ๋ยเคมีก่อนประเทศไทยมานับร้อยปี ผลผลิตและคุณภาพของผลิตผลการเกษตรของประเทศเหล่านั้นก็ไม่ได้ลดลงแต่ประการใด เพราะประเทศต่าง ๆ เหล่านั้นมีการจัดการดินที่ดี จัดระบบการปลูกพืชอย่างมีระบบสำหรับประเทศที่กำลังพัฒนาที่ประสบกับปัญหาในเรื่องความอุดมสมบูรณ์คงจะไม่ใช่เกิดจากปุ๋ยเคมีเพียงอย่างเดียว สาเหตุที่สำคัญอันหนึ่งก็คือ ขาดข้อมูลและการปฏิบัติอย่างจริงจังในการจัดการอินทรียวัตถุในดิน การไถพรวนดิน ฯลฯ
สรุป
ปุ๋ยเคมีสามารถจำแนกตามคุณสมบัติทางกายภาพออกเป็น ปุ๋ยผง ปุ๋ยเกรด ปุ๋ยน้ำและแบ่งตามปริมาณของธาตุอาหารออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือปุ๋ยเดี่ยวและปุ๋ยผสม วิธีการใส่ปุ๋ยเคมีในการปลูกพืชต้องคำนึงถึงปัจจัยดังต่อไปนี้คือชนิดของปุ๋ยที่ถูกต้อง อัตราปุ๋ยที่พอเหมาะ เวลาในการใส่ปุ๋ย วิธีการใส่ปุ๋ย การผสมปุ๋ยเคมีใช้เอง แบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอนใหญ่ๆ คือ ขั้นเตรียมอุปกรณ์ และขั้นผสมปุ๋ย ในการซื้อปุ๋ยเคมีต้องสังเกตดูตรา ดูสูตร และน้ำหนักที่บอกไว้ที่ถุงว่ามีความถูกต้องหรือไม่ และมีรอยฉีกขาด หรือรอยเย็บใหม่หรือไม่ ในการเก็บรักษาปุ๋ยเคมีควรเก็บรักษาไว้ใน
โรงเรียนที่มีหลังคาและควรแยกออกเป็นพวกๆ โดยเก็บไว้ในที่แห้ง กรณีของปุ๋ยแอมโมเนียมไนเตรตควรไม่ให้เก็บไว้ใกล้น้ำมันเพราะจะทำให้สามารถระเบิดและลุกเป็นไฟได้
คำถามทบทวน
1. คณะกรรรมการปุ๋ยประกอบด้วยบุคคลใดบ้าง
2. ผู้ที่ทำปุ๋ยเคมีปลอมขายให้เกษตรกรมีโทษอะไรบ้าง
3. บอกชนิดของปุ๋ยเคมีตามคุณสมบัติทางกายภาพ
4. ให้ออกแบบเครื่องมือในการปั้นเม็ดปุ๋ยอย่างง่ายๆเพื่อสามารถใช้ในหมู่บ้านได้
5. ทำไมเกษตรกรไทยนิยมใช้ปุ๋ยเคมีมากกว่าใช้ปุ๋ยอินทรีย์
6. การผลิตปุ๋ยยูเรียมีขั้นตอนผลิตอย่างไรบ้างอธิบายพร้อมทั้งเขียนสมการประกอบ
7. บอกปัจจัยในการใช้ปุ๋ยเคมีให้เกิดประสิทธิภาพในการเพิ่มผลผลิตของพืช
8. บอกข้อดีและข้อเสียในการผลิตปุ๋ยไว้ใช้เอง
9. ปัจจุบันเกษตรกรไทยมักมีปัญหาการใช้ปุ๋ยเคมีไม่ว่าจะเป็นด้านราคา และวิธีการจัดการใช้ปุ๋ยจะมีวิธีแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างไรโดยอาศัยหลักการที่ได้เรียนไป
10. จากคำกล่าวที่ว่าถ้าใช้ปุ๋ยเคมีไปนานๆจะทำให้ดินไม่เหมาะสมสำหรับการปลูกพืชท่านคิดว่าคำกล่าวดังกล่าวถูกต้องหรือไม่ให้เหตุผล
เอกสารอ้างอิง
กรมพัฒนาที่ดิน. (2544). การใช้ที่ดินของประเทศไทย พ.ศ. 2543. . Available :
http//www.Idd.go.th/ofsweb/Thaisoil/no2.html[2544, สิงหาคม 31] .
กลุ่มวิจัยดินและปุ๋ยพืชไร่, ( 2538 ) การใช้ปุ๋ยเคมีกับพืชบางชนิด. กรุงเทพมหานคร : กองปฐพี
วิทยา, กรมวิชาการเกษตร.
เกษมศรี ซับซ้อน. (2541). ปฐพีวิทยา(พิมพ์ครั้งที่4). กรุงเทพมหานคร : นานาสิ่งพิมพ์.
คณาจารย์ภาควิชาปฐพีวิยา. ( 2541). ปฐพีวิทยาเบื้องต้น (พิมพ์ครั้งที่8). กรุงเทพมหานคร :
เรืองธรรมการพิมพ์.
ถวิล ครุฑกุล. ( 2527 ). ดินและปุ๋ยเพื่อการเพาะปลูก. กรุงเทพมหานคร : ภาควิชาปฐพีวิทยา
คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
นที ขลิบทอง. ( 2528 ). ดิน น้ำ ปุ๋ย. กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
นักวิชาการการเกษตร. ( 2538 ). คำแนะนำการใช้ปุ๋ยเคมีกับพืชเศรษฐกิจและความรู้เรื่องปุ๋ยเคมี.
กรุงเทพมหานคร : กองปฐพีวิทยา กรมวิชาการเกษคร.
ปิยะ ดวงพัตรา. ( 2538 ). หลักการและวิธีการใส่ปุ๋ยเคมี. กรุงเทพมหานคร : ภาควิชาปฐพีวิทยา
คณะเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
ศูนย์ฝึกอบรมวิศวกรรมเกษตร. ( 2526 ). ปฐพีวิทยา. กรุงเทพมหานคร : กองวิทยาลัยเกษตรกรรม
กรมอาชีวศึกษา.
http://www.nsru.ac.th/e-learning/soil/lesson_11_6.php